ในยุคดิจิทัลที่เทคโนโลยีเข้ามามีบทบาทในชีวิตประจำวันมากขึ้น การเลี้ยงลูกให้เติบโตอย่างมีประสิทธิภาพจึงเป็นเรื่องท้าทายสำหรับพ่อแม่ยุคใหม่ เนื่องจากต้องหาจุดสมดุลระหว่างโลกแห่งความจริงและโลกเสมือน รวมถึงการปลูกฝังทักษะที่จำเป็นเพื่อให้ลูกๆ สามารถดำรงชีวิตอย่างมีความสุขและประสบความสำเร็จในโลกอนาคตที่เต็มไปด้วยเทคโนโลยี วันนี้ Ayasan จะพาไปดูกันว่าเราจะเตรียมตัวรับมือให้ลูก ๆ ของเราในยุคที่ทุกอย่างเคลื่อนที่อย่างรวดเร็วได้อย่างไร
ความท้าทายของการเลี้ยงลูกในยุคดิจิทัล
ด้วยอิทธิพลของเทคโนโลยีดิจิทัลที่แพร่หลายไปทั่ว การเลี้ยงลูกในยุคนี้จึงเผชิญกับความท้าทายหลายประการ ดังนี้
- ปัญหาการติดเทคโนโลยี หรือภาวะเสพติดอุปกรณ์ดิจิทัล เนื่องจากเด็กสมัยนี้มีโอกาสเข้าถึงอุปกรณ์เหล่านี้ได้ง่ายและมากขึ้น ความสุขและความสบายใจของใครหลาย ๆ คนจึงขึ้นอยู่กับอุปกรณ์ดิจิทัลที่มีสิ่งที่หลากหลายอยู่ในนั้นมากกว่าการออกไปเจอโลกภายนอก
- การขาดทักษะการสื่อสารและปฏิสัมพันธ์ในโลกแห่งความจริง เพราะเด็กมักจะหลงใหลและใช้เวลาส่วนใหญ่กับสื่อดิจิทัล ทักษะทางสังคมจะเกิดขึ้นได้เมื่อออกไปเจอโลกภายนอกหรือเจอผู้คน การหมกมุ่นอยู่แต่กับโลกในดิจิทัลส่งผลให้ทักษะทางสังคมลดลง
- ขาดการพัฒนาทักษะด้านสมาธิและการเรียนรู้ เนื่องจากมีสิ่งรบกวนสมาธิมากมายจากเทคโนโลยี ไม่ว่าจะเป็นโซเชียลมีเดียที่กลายเป็นส่วนหนึ่งในชีวิตไปเสียแล้ว บ้างหมดเวลาหลายชั่วโมงในหนึ่งวันไปกับการไถฟีดเพื่ออัพเดทข่าวสารหรืออัพเดทชีวิตตนเองให้ผู้อื่นรู้
- การคลั่งไคล้วัฒนธรรมบริโภคนิยมและขาดการพัฒนาภายในจิตใจ เพราะสื่อโฆษณาและการตลาดดิจิทัลที่มากเกินไป รวมถึงกระแสการตามเทรนด์ต่าง ๆ เพราะกลัวการตกเทรนด์หรือที่เรียกกันว่า FOMO; Fear of missing out (โรคกลัวตกกระแส)
- ความเสี่ยงจากอันตรายบนโลกออนไลน์ เช่น การถูกล่วงละเมิด ข่มเหงรังแก รวมถึงเนื้อหาที่ไม่เหมาะสม เมื่อทุกอย่างเขาถึงง่ายแค่ปลายนิ้ว จึงมีความเสี่ยงมากมายที่ต้องเจอในโลกดิจิทัล โดยเฉพาะเหตุการณ์อย่างการโจรกรรมข้อมูลที่ประเทศไทยกำลังเจออยู่ในปัจจุบัน การแชร์ข้อมูล Fake News มีหลายคนที่ตกเป็นเหยื่อจากความเสี่ยงนี้เนื่องจากไม่มีภูมิคุ้มกันที่มากพอ
จากปัญหาและความท้าทายเหล่านี้ หากพ่อแม่ไม่ระมัดระวังและเลี้ยงดูอย่างไม่ถูกวิธี จะส่งผลให้ลูกๆ โตขึ้นมาอย่างไร้ประสิทธิภาพ ขาดทักษะสำคัญในการดำเนินชีวิต รวมถึงอาจเกิดปัญหาด้านพฤติกรรมและสุขภาพจิตตามมา
ผลกระทบจากการเลี้ยงลูกแบบไม่ใส่ใจ
สิ่งหนึ่งที่เป็นตัวอย่างของการเลี้ยงลูกอย่างไม่ถูกวิธีในยุคดิจิทัล คือ การเลี้ยงลูกแบบไม่ใส่ใจ หรือปล่อยปละละเลยให้ลูกเล่นอุปกรณ์ดิจิทัลนานเกินไปโดยขาดการดูแลและควบคุม
หลายครอบครัวมักจะใช้วิธีเปิดให้ลูกเล่น iPad โทรศัพท์มือถือ หรือดูทีวี ตั้งแต่เล็ก ๆ เพื่อเป็นการชดเชยเวลาที่พ่อแม่ไม่มีให้ และคาดหวังว่าการให้ลูกได้เข้าถึงเทคโนโลยีตั้งแต่เล็ก ๆ จะทำให้ลูกสามารถตามโลกแห่งเทคโนโลยีได้ทันโดยที่ไม่รู้ว่าการกระทำแบบนี้มีผลเสียมากกว่าที่คิด
การปล่อยให้ลูกเล่นอุปกรณ์ดิจิทัลนานโดยขาดการดูแลอย่างใกล้ชิด จะทำให้เด็กเสียโอกาสในการพัฒนาทักษะสำคัญในช่วงวัยแรกเริ่ม ซึ่งเป็นช่วงกำหนดรากฐานพื้นฐานของพัฒนาการ อาทิเช่น
- ทักษะการสังเกต การรับรู้ และการเคลื่อนไหว เนื่องจากไม่ได้รับการกระตุ้นจากการเล่นแบบธรรมชาติ การอยู่กับหน้าจอนาน ๆ ไม่ได้มีปฏิสัมพันธ์กับเด็กคนอื่น หรือได้เล่นตามสัญชาตญาณของเด็กไม่ว่าจะเป็นวิ่ง กระโดด การแก้ปัญหาง่าย ๆ อย่างที่เด็กควรจะได้ทำจะส่งผลต่อการพัฒนาพื้นฐานด้านการเรียนรู้ของเด็ก
- ทักษะการคิดวิเคราะห์และแก้ปัญหา เพราะถูกหนุนด้วยคอนเทนต์ที่ง่ายและตื้นเขิน ไม่ต้องคิดอะไรมากมาย ในปัจจุบันที่ทุกสิ่งทุกอย่างล้วนพยายามดึงความสนใจของเราทั้งสิ้น คอนเทนต์หลาย ๆ คอนเทนต์ที่ถูกผลิตมาโดยไร้คุณภาพแต่โฟกัสไปที่การดึงความสนใจ แน่นอนว่าเด็กที่ยังไม่สามารถแยกแยะสิ่งที่ดีหรือไม่ดีจะตกเป็นเหยื่อของคอนเทนต์ไร้คุณภาพเหล่านี้
- สมาธิและทักษะการจดจ่อที่ลดลง เพราะเทคโนโลยีมักจะสร้างความต้องการการได้รับการตอบสนองอย่างรวดเร็ว ในยุคนี้เราอาจสัมผัสได้ว่าทั้งเด็กและผู้ใหญ่มีสมาธิที่สั้นลงอย่างมากเนื่องจากมีสิ่งรบกวนเราอยู่ตลอดเวลา และเราก็ปล่อยใจให้เลยตามเลยกับสิ่งรบกวนเหล่านั้น
- ทักษะการเรียนรู้และรับรู้การอ่านออกเขียนได้ เพราะขาดประสบการณ์จริงและความคิดสร้างสรรค์ การใช้เทคโนโลยีเลี้ยงลูกให้เกิดความคิดสร้างสรรค์ไม่ใช่แค่การโยนอุปกรณ์ต่าง ๆ ให้ลูกแล้วคาดหวังว่าเด็กของเราจะเติบโตพร้อมความคิดสร้างสรรค์ด้วยตนเอง แต่เกิดจากการควบคุมการใช้เทคโนโลนีและการดูแลจากผู้ใหญ่ที่เหมาะสม
นอกจากนี้ เด็กที่ถูกปล่อยปละละเลยให้เล่นเทคโนโลยีมากเกินไป ก็จะมีแนวโน้มเกิดปัญหาสมาธิสั้นที่เห็นได้ชัด ติดอุปกรณ์จนเป็นภาวะเสพติด ขี้เกียจ และอาจเกิดปัญหาพฤติกรรมที่ไม่พึงประสงค์ เช่น ก้าวร้าวง่าย หงุดหงิดเมื่อไม่ได้ในสิ่งที่ต้องการ และเสี่ยงต่อภาวะซึมเศร้าได้ง่าย
จะเห็นได้ว่า การเลี้ยงลูกแบบไม่ใส่ใจและปล่อยให้เล่นอุปกรณ์นานเกินไปโดยขาดการดูแล จะส่งผลกระทบอย่างมากต่อพัฒนาการของลูก ทั้งด้านร่างกาย จิตใจ และสติปัญญา ซึ่งจะนำไปสู่ปัญหาและส่งผลต่อคุณภาพชีวิตในอนาคต ดังนั้นจึงจำเป็นอย่างยิ่งที่พ่อแม่ต้องให้ความสำคัญและหาวิธีการเลี้ยงลูกที่ถูกต้องในยุคดิจิทัล
บทบาทของพ่อแม่ในการเลี้ยงลูกให้เติบโตอย่างมีประสิทธิภาพ
พ่อแม่ถือเป็นผู้มีบทบาทสำคัญในการเลี้ยงลูกให้โตมามีประสิทธิภาพในยุคดิจิทัล โดยสามารถปฏิบัติตามแนวทางเหล่านี้
- ปลูกฝังคุณธรรมและอุดมคติที่ดีให้กับลูก ความซื่อสัตย์ ความเมตตา กรุณา ความมีน้ำใจและจิตสาธารณะ เพื่อให้ลูกรู้จักกลั่นกรองและเลือกรับเฉพาะสิ่งดีๆ เข้ามาในชีวิต
- สอนให้ลูกรู้จักคิดวิเคราะห์ มองเห็นผลดีผลเสีย คิดอย่างมีวิจารณญาณ และตัดสินใจอย่างมีเหตุผล เพื่อจะได้ใช้ชีวิตกับสื่อดิจิทัลอย่างเหมาะสม
- ฝึกทักษะการสื่อสารและปฏิสัมพันธ์กับคนอื่นๆ ให้กับลูก ผ่านกิจกรรมต่างๆ เช่น เล่าเรื่อง พูดคุย สนทนา และแสดงความคิดเห็น
- สร้างประสบการณ์การเรียนรู้แบบธรรมชาติ นอกจากการเรียนรู้จากสื่อดิจิทัล เช่น การปลูกต้นไม้ ทำอาหาร วาดรูป ฯลฯ เพื่อฝึกทักษะความคิดสร้างสรรค์และจินตนาการ
- กำหนดเวลาและควบคุมการใช้สื่อดิจิทัลอย่างชัดเจน สอนให้ลูกรู้จักจัดการเวลาว่าควรจะใช้ทำอะไรบ้าง เพื่อไม่ให้ติดเทคโนโลยีจนเกินไป
- สอนให้รู้จักภัยอันตรายและความเสี่ยงจากโลกออนไลน์ เนื้อหาที่ไม่เหมาะสม การหลอกลวง และการคุกคามทางเพศ เพื่อลูกจะได้รู้เท่าทัน
- เป็นแบบอย่างที่ดีให้กับลูก โดยการเป็นผู้ใหญ่ที่ใช้เทคโนโลยีอย่างเหมาะสม ใช้เวลาร่วมทำกิจกรรมกับลูกให้มาก ไม่ติดอุปกรณ์ดิจิทัลเกินไป
- ไม่ปล่อยให้ลูกใช้อุปกรณ์ดิจิทัลเมื่ออยู่คนเดียว และไม่ใช้อุปกรณ์เป็นตัวแลกเปลี่ยนกับการทำตามสิ่งที่เรากำหนด
การเลี้ยงลูกให้เติบโตอย่างมีประสิทธิภาพในยุคดิจิทัลจึงต้องเริ่มจากบทบาทของพ่อแม่ที่จะต้องมีจิตสำนึกและความรับผิดชอบ เพื่อสอนและปลูกฝังให้ลูกมีจิตใจที่เข้มแข็ง สามารถใช้ชีวิตกับเทคโนโลยีได้อย่างเหมาะสม โดยไม่ตกเป็นทาสของอุปกรณ์ดิจิทัล แต่ต้องเป็นเจ้าของที่คุมได้ว่าจะเลือกรับหรือไม่รับสิ่งใด
เทคโนโลยีกับการพัฒนาทักษะสำหรับเด็กในยุคนี้
ถึงแม้เทคโนโลยีดิจิทัลอาจก่อให้เกิดความท้าทายต่อการเลี้ยงลูก แต่ก็มีบทบาทสำคัญในการช่วยพัฒนาทักษะที่จำเป็นสำหรับการดำรงชีพในโลกยุคนี้และในอนาคตด้วยเช่นกัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากพ่อแม่สามารถนำมาใช้อย่างเหมาะสม ดังนี้
- การใช้แอปพลิเคชันเสริมทักษะการคิดวิเคราะห์และแก้ปัญหา ในปัจจุบันมีแอปพลิเคชันมากมายที่ถูกสร้างมาอย่างมีคุณภาพและเหมาะแก่การใช้พัฒนาทักษะแก่เด็ก เช่น แอปพลิเคชันเกมส์ตรรกะ การคำนวณ และการจับคู่ ซึ่งจะช่วยฝึกทักษะการคิดเชิงตรรกะและการแก้ปัญหาอย่างเป็นระบบให้กับลูก ๆ
- ใช้แอปพลิเคชันการเรียนรู้ภาษาต่างประเทศ ทั้งการฟัง พูด อ่าน และเขียน เพื่อเสริมสร้างทักษะการสื่อสารที่จำเป็นในโลกยุคโลกาภิวัตน์
- แนะนำและสอนการใช้โปรแกรม Office เช่น Word PowerPoint Excel เพื่อฝึกทักษะการนำเสนอและการใช้งานคอมพิวเตอร์ขั้นพื้นฐาน คุณพ่อคุณแม่สมัยนี้คงรู้ดีว่าทักษะการใช้โปรแกรมเหล่านี้เป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้จริง ๆ การสอนลูกให้รู้จักกับโปรแกรมเหล่านี้จะเป็นการส่งเสริมให้ลูกได้รู้จักกับเครื่องมือที่ใช้ในการทำงานจริง
- แนะนำการใช้อินเทอร์เน็ตและเครื่องมือค้นหาข้อมูลอย่างมีประสิทธิภาพ เพื่อฝึกทักษะการรู้เท่าทันสื่อ การคิดวิเคราะห์ข้อมูล และการเรียนรู้ด้วยตนเอง สิ่งสำคัญคือการชี้ให้เห็นว่าการท่องโลกอินเทอร์เน็ตนั้นมีทั้งข้อดีและข้อเสียพร้อมทั้งสอนให้ลูกตระหนักว่าสิ่งไหนคือสิ่งที่ดีที่ควรกระทำและนำมาปรับใช้และสิ่งไหนคือสิ่งที่ควรหลีกเลี่ยง
- สอนการเขียนโปรแกรมคอมพิวเตอร์ การใช้งาน coding เพื่อเปิดโอกาสให้เด็กได้สัมผัสกับการออกแบบที่สร้างสรรค์ด้วยจนเองเพื่อพัฒนาทักษะการคิดเชิงออกแบบและนวัตกรรม ทักษะด้านภาษาโปรแกรม (Programming Language) เป็นทักษะที่ยังมีความต้องการในตลาดสูง การมีทักษะด้านนี้จะช่วยให้เด็กตามโลกยุคดิจิทัลที่มีความซับซ้อนได้ง่ายขึ้น อีกทั้งทักษะเหล่านี้ยังไม่ยากเกินไปที่จะเรียนรู้
- ใช้โซเชียลมีเดียในการเชื่อมต่อกับเพื่อนและผู้อื่น เพื่อฝึกทักษะการสื่อสารและการทำงานเป็นทีม รู้จักการเคารพในความคิดเห็นและวัฒนธรรมที่แตกต่าง
- สอนการสร้างคอนเทนต์ดิจิทัล เช่นการถ่ายภาพ ตัดต่อวิดีโอ เพื่อพัฒนาทักษะการสื่อสารและความคิดสร้างสรรค์
ดังนั้น เทคโนโลยีดิจิทัลย่อมเป็นเครื่องมือสำคัญในการพัฒนาทักษะต่างๆ ให้กับลูกๆ เพื่อให้พวกเขามีความพร้อมและสามารถปรับตัวรับมือกับการเปลี่ยนแปลงของโลกอนาคตได้ แต่ทั้งนี้จำเป็นต้องอยู่ภายใต้การดูแลของพ่อแม่ เพื่อให้เกิดสมดุลและการใช้งานอย่างเหมาะสม ไม่พึ่งพาอุปกรณ์ดิจิทัลมากเกินไปจนลืมสร้างปฏิสัมพันธ์และทักษะอื่นๆ
สรุป
การเลี้ยงลูกให้เติบโตอย่างมีประสิทธิภาพในยุคดิจิทัลนั้นเป็นความท้าทายอันยิ่งใหญ่ เนื่องจากพ่อแม่จำเป็นต้องสร้างสมดุลระหว่างโลกแห่งความจริงและโลกดิจิทัล ปลูกฝังคุณธรรม สร้างวินัย และพัฒนาทักษะการเรียนรู้ให้กับลูก ในขณะเดียวกันก็ต้องควบคุมและกำหนดขอบเขตการใช้งานสื่อดิจิทัลอย่างเหมาะสม
การละเลยหรือเลี้ยงลูกแบบไม่ใส่ใจ โดยปล่อยให้ลูกเล่นเทคโนโลยีมากเกินไปโดยขาดการดูแล จะส่งผลร้ายต่อพัฒนาการของลูกในทุก ๆ ด้าน ทั้งด้านร่างกาย จิตใจ สมาธิ ทักษะสังคมและการเรียนรู้
การให้ลูกๆ สามารถใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีดิจิทัลได้อย่างเต็มที่และเหมาะสม เป็นเรื่องสำคัญไม่แพ้การปลูกฝังและพัฒนาทักษะอื่น ๆ เพราะพวกเขาจะต้องเติบโตไปกับสิ่งเหล่านี้ในโลกอนาคต แต่สิ่งสำคัญคือ ต้องมีพ่อแม่ที่คอยให้คำแนะนำ ควบคุมดูแล และเป็นแบบอย่างที่ดี เพื่อให้ลูกรู้จักใช้เทคโนโลยีอย่างรู้คุณค่า และสามารถพัฒนาตนเองให้เป็นคนมีประสิทธิภาพที่สมบูรณ์แบบทั้งกายและใจต่อไป
สำหรับท่านผู้ปกครองที่กำลังมองหาพี่เลี้ยงหรือผู้ดูแลมืออาชีพ Ayasan ของพวกเราพร้อมให้บริการพี่เลี้ยงดูแลเพื่อช่วยในการเลี้ยงดูลูก ๆ และแบ่งเบาภาระของท่าน หลังจากอ่านบทความนี้แล้ว ท่านคงเห็นได้ว่า การมีพี่เลี้ยงจากบริษัทมาตรฐาน จะช่วยแบ่งเบาภาระและเสริมบทบาทในการเลี้ยงลูกให้เติบโตอย่างมีประสิทธิภาพไปพร้อมกัน หากสนใจ สามารถดูรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ Ayasan | บริการจัดหาแม่บ้าน บริการทำความสะอาด พี่เลี้ยงเด็ก ดูแลผู้สูงวัย กรุงเทพฯ (ayasan-service.com)
Leave a Reply